ผู้ป่วยใน1

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
           เป็นงานบริการผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องตลอด  24  ชั่วโมง  จนกระทั่งกลับบ้าน   โดยให้บริการทั้งด้าน  การป้องกันโรค  การส่งเสริมสุขภาพ  การรักษาพยาบาล    และการฟื้นฟูสภาพ  เจ้าหน้าที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับความสุขสบายทั้งด้านร่างกายและจิตใจรวมทั้งให้การสนับสนุนผู้ป่วยในรายที่จำเป็นต้องให้บริการรับ ส่ง ต่อด้วย
งานบริการผู้ป่วยใน  มีตึกให้บริการ   2 ตึก  ดังนี้
            1.ตึกผู้ป่วยใน 1 ให้บริการผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี  ขึ้นไปโดยรับผู้ป่วยทั้งชาย – หญิง และรับผู้ป่วยอายุรกรรม,ศัลยกรรม,นรีเวชกรรม,อื่นๆ   ซึ่งมีการจัดแบ่งพื้นที่รับผู้ป่วย  ดังนี้   
                                -  ห้องรวมผู้ป่วยชาย  จำนวน  15  เตียง
                                -  ห้องรวมผู้ป่วยหญิง  จำนวน 15  เตียง
                                -  ห้องพิเศษ ( 6 ห้อง )  จำนวน  6  ห้อง
เกณฑ์มาตรฐานการจัดบริการงานผู้ป่วยใน
            1.  ให้บริการพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพตามอาการและอาการแสดงของโรคของผู้ป่วยแต่ละราย  โดยยึดหลักการพยาบาลผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ  อารมณ์  สังคม  ด้วยความรวดเร็วปลอดภัยและประหยัด
            2.  ให้บริการพยาบาลแก่ผู้ป่วยให้หายจากการเจ็บป่วยต่างๆ โดยปราศจากอาการทุพพลภาพ  ภาวะแทรกซ้อน และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข
            3.  ให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยแก่ผู้ป่วยในความดูแลของตนเองที่ถูกต้องภายหลังจากการเจ็บป่วยและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป
            4.  ให้คำแนะนำแก่ญาติและครอบครัวของผู้ป่วยในการป้องกันโรค  การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
กิจกรรมการบริการ
            1.  จัดอาคารสถานที่ให้เหมาะสม เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ  โดยผู้ให้การพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง  และสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที  ตลอดจนปลอดภัยจาการติดเชื้อ
            2.  จัดอุปกรณ์  เครื่องมือ   เครื่องใช้ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเป็นหมวดหมู่   โดยคำนึงถึงหลักการปลอดเชื้อ
            3.  กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ   เพื่อให้มีขอบเขตในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แต่ละระดับอย่างชัดเจน  เพื่อป้องกันการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน
            4.  จำแนกประเภทผู้ป่วยโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์การ จำแนกประเภทผู้ป่วยของสำนักการพยาบาลเพื่อเป็นแนวทางการมอบหมายงาน  ติดตามสนับสนุนและประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาล
            5.  รับผู้ป่วยใหม่จากตึกผู้ป่วยนอก  ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินและห้องคลอด
            6.  ค้นหาปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยโดยการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวผู้ป่วย  ญาติ  และจากบันทึกรายงานการตรวจพิเศษต่างๆและสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์
            7.  วางแผนการพยาบาลแก่ผู้ป่วยตามปัญหาและความต้องการที่ค้นพบและสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์
            8.  ให้การพยาบาลตามแผนที่กำหนดได้  โดยยึดหลักการพยาบาลแบบองค์รวมและมีการมอบหมายเป็นทีม
            9.  กำหนดรูปแบบและวิธีการเขียนบันทึกรายงานต่างๆ   ซึ่งพยาบาลที่ปฏิบัติงานในตึกผู้ป่วยเป็นผู้รับผิดชอบบันทึก  โดยจะต้องทำการแก้ไขให้เหมาะสมอยู่เสมอ
            10.  จัดทำทะเบียนผู้ป่วยรับใหม่ จำหน่ายภายในตึก  ตลอดจนบันทึกจำนวนผู้ป่วยแต่ละประเภทประจำวัน  จำนวนต่อเดือน  เพื่อเป็นข้อมูลของตึกและกลุ่มการพยาบาล
            11.  ประเมินผลการให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยแต่ละราย  และปรับปรุงแนวทางการพยาบาลเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
            12.  การให้การพยาบาลทุกขั้นตอนให้ยึดหลักการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
            13.  ส่งเสริมวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานอยู่เสมอ
            14.  ประสานงานและสนับสนุนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
การควบคุม กำกับงานประเมินได้จาก
            1.  คุณภาพการบริการพยาบาล  โดยประเมินคุณภาพการพยาบาลและเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
            2.  คุณภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามเกณฑ์ประเมินผลทุก  4 เดือน
            3.  สถิติการตายของผู้ป่วยลดลง
            4.  สถิติการรับใหม่ - จำหน่าย
            5.  สถิติการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำภายใน  28  วัน  ลดลง
            6.  จำนวนวันนอนรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยน้อยลง
            7.  อัตราการเกิดแผลกดทับลดลง

            8.  อัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลลดลง